การฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการดำเนินงานของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ประจำสถาบัน ครั้งที่ 2 (ทางด้านสังคมศาสตร์) ในระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565
จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565 เวลา 8.30-16.30 น. ผ่านทางระบบออนไลน์ Zoom Meeting
๑. หลักการและเหตุผล
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีพันธกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัยในมนุษย์ และมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาการทำวิจัยในมนุษย์ตามหลักมาตรฐานสากล อีกทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนามาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ ส่งเสริมขับเคลื่อนมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ รับรองมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ และประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในมนุษย์ ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ด้านการพัฒนามาตรฐาน การนำไปใช้ และการกำกับรับรองมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์
กองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (กมว.)ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ในประเทศไทยมาอย่างกว้างขวาง และต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เนื่องจากการวิจัยในมนุษย์ เป็นการวิจัยที่มีผลต่อการพัฒนา และความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ในด้านสังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยอาศัยกระบวนการศึกษาค้นคว้า และวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นมนุษย์หรือเรียกว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมการวิจัย ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่อาสาสมัครว่าจะได้รับการคุ้มครอง สิทธิ ศักดิ์ศรี ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ที่ดี ตามหลักจริยธรรมการวิจัยระดับสากล จึงได้มีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ประจำสถาบัน ที่มีหน้าที่พิจารณาทบทวนด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
นอกจากนั้น ตามราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ข้อ ๕.๑.๔ จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการในการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ระบุว่า “(๖) หากผลงานทางวิชาการมีการใช้ข้อมูลจากการทำการวิจัยในคน หรือสัตว์ ผู้ขอตำแหน่งจะต้องยื่นหลักฐานแสดงการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยของสถาบันที่มีการดำเนินการ” จึงทำให้สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยของสถาบัน มีความสนใจที่จะจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยฯ ขึ้น ซึ่งกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ประจำสถาบัน มีรายละเอียดมาก และยังไม่มีหน่วยงานใดจัดอบรมให้ความรู้เช่นนี้มาก่อน การจัดอบรมความรู้ทางจริยธรรมการวิจัยในคนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เน้นหนักเกี่ยวกับการปฏิบัติของนักวิจัย ซึ่งสถาบันที่สนใจจะจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ได้ส่งบุคลากรไปรับการอบรมมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ขึ้นได้ เนื่องจากยังขาดความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการคณะกรรมการฯ ที่จะทำให้ระบบงานดำเนินไปได้อย่างราบรื่นรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น วช. จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการดำเนินงานของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ประจำสถาบัน เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ประจำสถาบัน สามารถดำเนินการตามมาตรฐานสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อให้ความรู้ในการดำเนินงานของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ประจำสถาบันตามมาตรฐานสากล และเพื่อให้สถาบันมีแนวทางในการจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
๒.๒ เพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ในการสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ อย่างมีประสิทธิภาพ
3463